วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

ประโยชน์ของต้นหม่อน ใบหม่อน หรือ มัลเบอรี่



หม่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหม่อน ใบหม่อน 50 ข้อ !


หม่อน


หม่อน
 หรือ มัลเบอร์รี่ (Mulberry) ชื่อสามัญ Mulberry tree, White Mulberry[1]หม่อน

หม่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba Linn. จัดอยู่ในวงศ์ MORACEAE[1]
สมุนไพรหม่อน ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า มอน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน), ซึงเฮียะ ซึงเอียะ (จีนแต้จิ๋ว), ซางเย่ (จีนกลาง) เป็นต้น[2],[3]

หม่อนที่เรารู้จักกันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ หม่อนที่ปลูกเพื่อรับประทานผล (ชื่อสามัญ Black Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus nigra L.) ชนิดนี้ผลจะโตเป็นช่อ เมื่อสุกผลจะเป็นสีดำ มีรสเปรี้ยวอมหวาน นิยมนำมารับประทาน ทำแยม หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่วนอีกชนิดนั้นก็คือ หม่อนที่ใช้ปลูกเพื่อการเลี้ยงไหมเป็นหลัก (ชื่อสามัญ White Mulberry, ชื่อวิทยาศาสตร์ Morus alba L.) เป็นชนิดที่เรากำลังกล่าวถึงในบทความนี้ครับ ชนิดนี้จะมีใบใหญ่และออกใบมากใช้เป็นอาหารของไหมได้ดี ส่วนผลจะออกเป็นช่อเล็ก เมื่อสุกแล้วจะมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้ครับ แต่ไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่

ลักษณะของหม่อน

  • ต้นหม่อน เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีนตอนใต้ แถบเทือกเขาหิมาลัย แต่ภายหลังได้มีกรนำเข้ามาปลูกในอินโดจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย ฯลฯ โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2.5 เมตร บางพันธุ์สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร แตกกิ่งก้านไม่มากนัก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดง สีขาวปนสีน้ำตาล หรือสีเทาปนขาว ส่วนเปลือกรากเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเหลือแดง มีเส้นร้อยแตกที่เปลือกผิว พบได้ทั่วไปในป่าดิบ ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ[1],[2],[3],[4]
ต้นหม่อน
รากหม่อน
  • ใบหม่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมยาว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจหรือค่อนข้างตัด ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าเป็นพู (ขึ้นอยู่กับสาพันธุ์ที่ปลูก) ใบอ่อนขอบใบจักเป็นพูสองข้างไม่เท่ากัน ขอบพูจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเรียบเงา ท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบค่อนข้างหนา หลังใบสากระคายมือ เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนยาวไปถึงกลางใบ และเส้นใบออกจากเส้นกลางใบอีก 4 คู่ เส้นร่างแหเห็ดได้ชัดเจนจากด้านล่าง ก้านใบเรียวเล็ก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีหูใบเป็นรูปแถบแคบปลายแหลม ยาวได้ประมาณ 0.2-0.5 เซนติเมตร[1],[2],[4]
ใบหม่อน
  • ดอกหม่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกระบอก ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียจะอยู่ต่างช่อกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก วงกลีบรวมเป็นสีขาวหม่นหรือเป็นสีขาวแกมสีเขียว ช่อดอกเป็นหางกระรอก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ดอกเพศผู้ วงกลีบรวมมีแฉก 4 แฉก เกลี้ยง ส่วนดอกเพศเมีย วงกลีบรวมมีแฉก 4 แฉก เกลี้ยง ขอบมีขน เมื่อเป็นผลจะอวบน้ำ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2 อัน[1],[4]
ดอกหม่อน
  • ผลหม่อน เป็นผลที่เกิดจากช่อดอก ผลเป็นผลรวมอยู่ในกระจุกเดียวกัน โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเข้มหรือสีม่วงดำ เกือบดำ เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสหวานอมเปรี้ยว[1],[2]
ผลหม่อน

สรรพคุณของหม่อน

  1. ใบหม่อนมีรสจืดเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระงับประสาท (ใบ)[1],[4]
  2. ใบใช้ทำชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ราก)[4]
  3. กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น (กิ่ง)[8]
  4. ช่วยบำรุงหัวใจ (ผล)[8]
  5. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
  6. ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ (ผล)[3],[4]
  7. ผลหม่อนมีรสเปรี้ยวหวานเย็น มีสรรพคุณช่วยดับร้อน คายความร้อนรุ่ม ขับลมร้อน ทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการกระหายน้ำ และทำให้ร่างกายชุ่มชื่น (ผล)[1],[2],[4],[8]
  8. ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ และเป็นยาช่วยขับลมร้อน (ใบ)[1],[2],[3],[4]
  9. ใบมีรสขม หวานเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และกระเพาะอาหาร ใช้เป็นยาแก้ไอร้อนเนื่องจากถูกลมร้อนกระทบ (ใบ)[2]
  10. ใบมีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อ (ใบ)[3],[4]
  11. ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ใบ)[1]
  12. เปลือกรากหม่อนมีรสชุ่ม เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด แก้ไอร้อนไอหอบ (เปลือกราก)[2]
  13. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (เมล็ด)[3]
  14. ใบนำมาทำเป็นยาต้ม ใช้อมหรือกลั้วคอแก้อาการเจ็บคอ คอแห้ง แก้ไอ และทำให้เนื้อเยื่อชุ่มชื้น หล่อลื่นภายนอก (ใบ)[2],[3],[4]
  15. รากนำมาตากแห้งต้มผสมกับน้ำผึ้ง มีรสหวานเย็น ใช้มากในโรคทางเดินหายใจและการมีน้ำสะสมในร่างกายอย่างผิดปกติ (ราก)[4]
  16. ยอดหม่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มและล้างตาเป็นยาบำรุงตา (ยอด)[8] ส่วนผลมีสรรพคุณทำให้เส้นประสาทตาดี ทำให้สายตาแจ่มใส ร่างกายสุขสบาย (ผล)[8]
  17. ใบนำมาต้มเอาน้ำใช้ล้างตา แก้ตาแดง ตามัว ตาแฉะ และตาฝ้าฟาง (ใบ)[1],[4]
  18. ใบมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็นและตาสว่าง (ใบ)[2], ส่วนผลมีสรรพคุณช่วยทำให้หูตาสว่าง (ผล)[2]
  19. ใบแก่นำมาตากแห้งมวนสูบเหมือนบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก (ใบแก่)[4]
  20. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เปลือกรากประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หรือจะใช้ใบนำมาทำเป็นชาเขียวใช้ชงกับน้ำดื่มก็ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน นอกจากนี้ผลก็มีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้เช่นกัน (ราก,เปลือกราก,ใบ,ผล)[2],[3],[8]
  21. ใบอ่อนหรือแก่นำมาทำเป็นชาเขียว ใช้ชงกับน้ำดื่มช่วยลดไขมันในเลือด (ใบ)[3]
  22. ช่วยขับน้ำในปอด (เปลือกราก)[2]
  23. กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี ช่วยจัดความร้อนในปอด และกระเพาะอาหาร ช่วยขจัดการหมักหมมในกระเพาะอาหารและเสลดในปอด (กิ่ง)[8]
  24. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องผูก (ผล)[2]
  25. ผลนำมาต้มกับน้ำหรือเชื่อมกินเป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ และมีเมล็ดที่ช่วยเพิ่มกากใยอาหาร (ผล)[3],[4] ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ยาระบายเช่นกัน (เปลือกต้น)[3],[4]
  26. เปลือกต้นใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือกต้น)[3],[4] รากช่วยขับพยาธิ (ราก)[4]
  27. เปลือกรากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกราก)[2]
  28. กิ่งหม่อนมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปัสสาวะสีเหลือง มีกลิ่นฉุนอันเกิดจากความร้อนภายใน (กิ่ง)[8]
  29. ผลเป็นยาเย็นที่ออกฤทธิ์ต่อตับและไต มีสรรพคุณช่วยบำรุงตับและไต (ผล)[1],[2],[4]
  30. ช่วยรักษาตับและไตพร่อง (ผล)[2]
  31. รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)[4]
  32. ใบนำมาอังไฟและทาด้วยน้ำมันมะพร้าว ใช้วางบนแผลหรือตำใช้ทาแก้แมลงกัด (ใบ)[4]
  33. ใบใช้ผสมกับหอมหัวใหญ่เป็นยาพอกรักษาแผลจากการนอนกดทับ (ใบ)[4]
  34. ใบใช้เป็นยาแก้อาการติดเชื้อ (ใบ)[4]
  35. ช่วยลดอาการบวมน้ำที่ขา (เปลือกราก)[2]
  36. ช่วยแก้ข้อมือข้อเท้าเกร็ง แก้โรคปวดข้อ ไขข้อ (ผล)[2],[4],[8]
  37. ช่วยแก้แขนขาหมดแรง (ราก)[4]
  38. กิ่งหม่อนมีรสขมเป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาขับลมชื้นแก้ข้ออักเสบเนื่องจากลมชื้นเกาะติด หรือลมร้อนที่ทำให้ปวดแขน ขาบวม หรือมือเท้าแข็งเกร็ง เส้นตึง (กิ่ง)[2] ช่วยรักษาอาการปวดมือ เท้าเป็นตะคริว เป็นเหน็บชา ด้วยการใช้กิ่งหม่อนและโคนต้นหม่อนเก่าๆ นำมาตัดเป็นท่อนๆ ผึ่งไวให้แห้ง แล้วนำมาต้มกิน (กิ่ง)[8]
  39. ช่วยบำรุงเส้นผมให้ดกดำ (ผล)[8]
  40. ส่วนในประเทศจีนจะใช้เปลือกราก กิ่งอ่อน ใบ และผล เป็นยาบำรุง แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก แก้ไอ หืด วัณโรคปอด ขับปัสสาวะ การสะสมน้ำในร่างกายผิดปกติ และโรคปวดข้อ (เปลือกราก,กิ่งอ่อน,ใบ,ผล)[4]
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2] เปลือกรากแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม, ส่วนผลแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำรับยาตามที่ต้องการ[2]


ขอขอบคุณ ที่มา : http://frynn.com/ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลครับ