วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปัญหาการล้างพิษตับที่ "ผู้หญิง" มีข้อควรระวังมากกว่า "ผู้ชาย" (ตอนจบ) : เมื่อเกิดปัญหาแล้วแก้อย่างไร?

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
      
       หลักการสำคัญของคนที่เกิดอาการปะทุพิษ ซ่านพิษ สำรอกพิษ นั้นจำต้องแยกปัญหาออกได้ 3 ประการ คือ
      
        ประการแรก เกิดอาการผื่นขึ้น ปวดหัว อึดอัด ในระหว่างการอดอาหาร ซึ่งอาจหมายความว่าไขมันที่ถูกเผาผลาญเพื่อใช้เป็นพลังงานนั้น อาจมีสารพิษที่ละลายในไขมันไม่ถูกละลายออกมาด้วย แต่ร่างกายยังไม่สามารถเผาผลาญสารพิษเหล่านั้นได้ จึงเกิดอาการข้างเคียงในระหว่างการอดอาหาร
      
        ประการที่สอง 
คือเกิดอาการผื่นขึ้น ปวดหัว อึดอัด ในระหว่างการล้างลำไส้ เพราะร่างกายได้ทยอยนำสิ่งสกปรกตกค้างในลำไส้รวมถึงสารพิษตกค้างขับถ่ายออก ดังนั้นระหว่างที่สิ่งสกปรกและสารพิษเดินทางในลำไส้เล็กและสำไส้ใหญ่อาจดูดสารพิษเหล่านี้สู่เส้นเลือดดำจึงส่งผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะลำไส้รั่ว และธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำอยู่แล้ว จึงอาจมีปัญหาในการเผาผลาญแล้วเกิดอาการข้างเคียงได้มากขึ้นไปอีก
      
        ประการที่สาม
 คือเกิดอาการผื่นขึ้น ปวดหัว หลังได้นำสารพิษที่ละลายในไขมันในรูปของน้ำดี ที่ตับและถุงน้ำดีได้ขับออกมาเมื่อถูกล่อด้วยน้ำมันมะกอก แต่ปรากฏว่าเกิดภาวะที่ลำไส้ไม่เคลื่อนตัวหรือเคลื่อนตัวช้าจากปัญหาภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ทำให้พิษที่ถูกขับออกมาจากตับหรือถุงน้ำดี ลำไส้อาจเกิดการดูดกลับในระหว่างเดินทางออกจากร่างกายได้มากเมื่อเทียบกับการขับถ่ายออก โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะลำไส้รั่ว และธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
      
        เพราะปัญหาที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุลเพราะมีปริมาณที่สูงโดดเกินกว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ส่งผลทำให้เกิดการกดธัยรอยด์ฮอร์โมนให้ต่ำกว่าผู้ชาย ส่งผลทำให้เกิดการเผาผลาญได้ต่ำ 
และไม่สามารถแปลงไขมันมาเป็นน้ำดีหรือฮอร์โมนจำเป็นต่อร่างกายได้มากพอ โดยเฉพาะฮอร์โมนคอร์ติโซลซึ่งมีส่วนสำคัญในการต้านการอักเสบอาจมีไม่มากพอหรือมีความผิดเพี้ยนไปเมื่อการเผาผลาญต่ำลง ร่างกายก็จะดึงโปรเจสเตอโรนมาช่วยทำงานแทนฮอร์โมนคอร์ติโซล ส่งผลทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนโดดเกินกว่าโปรเจสเตอโรนซึ่งจะส่งผลเป็นวงจรทำให้ภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำลงไปอีกเท่าที่พบปัญหาในขณะนี้ได้พบทางแก้ไขได้หลายวิธี แต่ในชั้นนี้จะขอแนะนำจากการรวบรวมข้อมูลโดยไม่ต้องอาศัยยาเคมีหรือแพทย์แผนปัจจุบัน วิธีการต่อไปนี้เมื่อนำมาใช้กับหลายคนที่มีอาการจากสาเหตุเดียวกันพบว่ามีอาการดีขึ้นแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นก่อนล้างพิษตับ หรือล้างพิษตับก็ตาม จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่วิธีการดังต่อไปนี้
ภาพที่ 1 ภาพมือของผู้หญิงคนหนึ่งผื่นแพ้จนประทุน้ำเหลืองออกจากภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำและลำไส้รั่ว มีพฤติกรรมดื่มนมวัวต่างน้ำมาก เกิดอาการแพ้หลังล้างพิษ มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับจนมือกลับมาอยู่ในภาวะปกติแล้ว
       1. หากเกิดอาการผื่นแพ้ระหว่างล้างพิษ หรือหลังล้างพิษแล้ว การสวนทวารล้างลำไส้ enema หรือที่คนไทยทั่วไปเรียกว่า ดีท็อกซ์ โดยใช้น้ำอุ่นธรรมดา (หรือน้ำด่าง) เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายสารพิษออกจากร่างกายเป็นทางเลือกทางหนึ่ง ศูนย์ล้างพิษตับที่ได้มาตรฐานควรแนะนำให้ผู้เข้าหลักสูตรล้างพิษทำการสวนล้างต่อเนื่องหลังจากล้างพิษอีก 7 วัน เช้าเย็น โดยเฉพาะในตอนเช้าก่อน 7.00 น.
      
       มีคนจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เมื่อละเลยจึงมักประสบกับอาการข้างเคียงได้ เช่น ผื่นขึ้น ลมพิษ นำเหลืองไหลออก เกิดอาการคัน ผิวแตก ฯลฯ ส่วนใหญ่หากเกิดอาการเหล่านี้แล้วการสวนล้างเป็นวิธีหนึ่งที่บรรเทาอาการเหล่านี้ได้
      
       2. งดอาหารที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่ว ซึ่งเป็นเหตุมาจากเชื้อรา และการสูญเสียจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยย่อยอาหาร มีปริมาณเอนไซม์ในการย่อยอาหารได้น้อย ทำให้ลำไส้อักเสบและผิดปรกติเพราะดูดสารพิษและสารอาหารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่เกิน จนภูมิต้านทานทำงานอย่างหนัก เกิดกาการภูมิแพ้ได้ง่ายทั้งทางเดินหายใจและผิวหนัง ข้อแนะนำคือ การงดอาหารหวานทุกชนิด (น้ำหวาน, น้ำอัดลม, น้ำผลไม้หวาน, ผลไม้หวาน) งดนมดื่มวัวและผลิตภัณฑ์นมวัวทุกชนิด งดยาแก้อักเสบ ส่วนยาสเตียรอยด์ไม่ควรงดแบบหักดิบ ให้ค่อยๆสังเกตอาการที่ลดลงและทยอยลดยาสเตียรอยด์ลงแบบขั้นบันได และดื่มน้ำเปล่าให้มากพอประมาณ 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน
      
       3. รับประทานอาหารที่ฟื้นฟูภาวะลำไส้รั่ว ได้แก่เพิ่มอาหารที่ช่วยสร้างปริมาณเอนไซม์ให้มากขึ้น ได้แก่การรับประทานผักและผลไม้สดทุกวัน (เช่น ผักสลัด) เพื่อเพิ่มปริมาณเอนไซม์ให้ได้จากอาหารและขยายปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีจากอาหาร เครื่องดื่มที่ช่วยย่อยโปรตีนได้ดีที่แนะนำได้แก่ แกนสับประรดปั่นแยกกากรวมกับใบโหระพา, มะละกอ ฯลฯ หรืออาจเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีพร้อมเอนไซม์ในระบบลำไส้ได้จาก น้ำหมักเอนไซม์ที่สะอาดได้มาตรฐานและผ่านการตรวจสอบคุณภาพว่าไม่มีแอลกฮอล์หรือแบคทีเรียก่อโรคปะปน รวมถึงการรับประทานอาหารพวกธัญพืชงอกที่ไม่ผ่านความร้อนเกิน 47.7 องศาเซลเซียส ที่จะมีปริมาณเอนไซม์มากกว่าผักและผลไม้กว่า 100 เท่าตัว ทั้งนี้หากมีปริมาณจุลินทรีย์ในช่วงแรกอยู่ในระดับต่ำมากๆอาจรับประทานจุลินทรีย์ชนิดแคปซูล หรือ นมเปรี้ยว เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกายได้
      
       4. สำหรับภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ เป็นผลทำให้การเผาผลาญในร่างกายต่ำนั้น โดยมากจะมีอาการที่กล่าวมาแล้วในตอนที่ 1 และจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยตอนเช้าต่ำกว่า 36.4 องศาเซลเซียส มีอาการผื่นแพ้ ลมพิษ น้ำเหลืองไหล อักเสบง่าย ฯลฯ อาจเกิดอาการเหล่านี้ได้ทั้งยังไม่ล้างพิษตับ และหลังล้างพิษตับ แนะนำการแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้
      
       4.1 ให้สำรวจอาการอย่างละเอียด คนเหล่านี้มักจะผื่นหรือลมพิษ เป็นวงรอบเวลาซ้ำๆ กัน จึงต้องสำรวจการรับประทานอาหาร วัดอุณหภูมิ อย่างใกล้ชิด และมีเป้าหมายทำให้ร่างกายค่อยๆให้มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นให้เกิน 36.4 องศาเซลเซียสในตอนเช้าให้ได้
      
       4.2 ให้หยุดอาหารและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ดังนี้

       4.2.1 งดอาหารหวานทุกชนิด (น้ำหวาน, น้ำอัดลม, ผลไม้หวานๆ, น้ำผลไม้หวาน)
       4.2.2 ให้อยู่ห่างเครื่องมือไฟฟ้าที่ส่งคลื่นรังสีมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด เตาอบไมโครเวฟขณะทำงาน โทรทัศน์ ฯลฯ
       4.2.3 หยุดยาเคมีที่ทำให้มีเอสโตรเจนสูงขึ้น ได้แก่ ยาคุม ยาแก้สิว ยาฮอร์โมนวัยทอง รวมถึงห่างจากยาที่ออกฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน เช่น ยาปราบศัตรูพืช น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฟอกสี น้ำยาขัดเบาะ
       4.2.4 หยุดหรือลดเอสโตรเจนที่ได้รับจากสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์, นมวัว นมแพะ ไข่ไก่ ไข่เป็ด
       4.2.5 หยุดอาหารที่มีผลเหมือนเพิ่มเอสโตรเจน ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ จมูกข้าวสาลี อาหารที่มียีสต์ กราวเครือขาว กระเจี๊ยบแดง
       4.2.6 หยุดกินไขมันที่กดธัยรอยด์ฮอร์โมให้ต่ำ ได้แก่ น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่นำมาใช้ทอดและผัดอาหาร ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนยเทียม (อยู่ในขนมกรุบกรอบแทบทุกประเภท)
       4.2.7 หยุดการรับประทานไอโอดีนที่อาจมากเกินไป
       4.2.8 หยุดกินผักสดบางชนิดที่มีสารต้านธัยรอยด์ ได้แก่ คะน้า กะหล่ำปลี บล็อคโคลี ควรทำการให้ผ่านความร้อนด้วยการต้ม ผัด ทอดเสียก่อน จึงจะทำให้สารต้านธัยรอยด์เหล่านั้นหมดฤทธิ์ไป
       4.2.9 หยุดลดความเครียด หยุดการอดนอนหรือนอนน้อย หยุดการอดอาหารนานๆและไม่เป็นเวลา
      
       4.3 เพิ่มการเผาผลาญในร่างกายนอกเหนือการพึ่งพาธัยรอยด์ฮอร์โมนอย่างเดียว ได้แก่ การออกกำลังกาย หรือการรับประทานสมุนไพรหรือพืชสวนครัวเครื่องเทศฤทธิ์ร้อน เช่น น้ำขิงร้อน พริกไทยดำ กระเทียม พริก ฯลฯ โดยให้รับประทานก่อนที่ตัวจะเย็นลง (จากการวัดอุณหภูมิ) หรือในวันที่อากาศเย็นตัวลงจากฝนตก
      
       4.4 รับประทานยาสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญสร้างพลังงานและการเคลื่อนตัวของลำไส้และช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย เช่น รับประทานยาชำระเมือกมัน (สูตรหมอปาน) ก่อนนอน 3 เม็ด + ยาหม้อดิน หรือโพธิ์แดง 3 ช้อนโต๊ะตอนเช้า และ 1 ช้อนโต๊ะตอนเย็น ทั้งนี้ให้ทำการดีท็อกซ์สวนล้างลำไส้ทุกวัน เช้า (ก่อน 7.00 น.) และตอนเย็น หรืออาจทำมากกว่านั้นในระหว่างมีอาการผื่นแพ้ ลมพิษ
      
       ทั้งนี้หากไม่สามารถหายาหม้อดิน หรือโพธิ์แดง ได้ หมอปาน (คุณจิตรา ปลอดอักษร) แพทย์แผนไทย ได้เสนอสูตรยาหม้อสำหรับ ขับลม ขับมูก เพิ่มเติมได้ดังนี้
      
       1. ใบมะขาม, 2. ใบมะดัน, 3. ใบชะมวง, 4. แก่นลั่นทม, 5. ปูนหิน, 6. กุ่มทั้งสอง, 7. ชุมเห็ดทั้งสอง, 8. เถาส้มเสร็งเคร็ง, 9. หัวกระทือ, 10. หัวไพล, 11. หัวกระชาย, 12. หัวขมิ้นอ้อย, 13. ผลคัดเค้า, 14. จุกหอม, 15. จุกกระเทียม, 16. ยาดำ (ยางของว่านหางจระเข้), 17. ฝักราชพฤกษ์, 18. สารส้ม, 19. มหาหิงส์, 20. ดินประสิว ยาทั้งหมดนี้เอาหลักสิ่งละสองบาท แล้วใช้มะนาวกรูด 9 ลูก ผ่าครึ่ง มะเฟืองเปรี้ยว 14 ลูกหั่นเป็นชิ้น ต้มกินวันละหนึ่งครั้งก่อนนอน หลังอาหารครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ใส่น้ำท่วมยาต้มซ้ำกินไปเรื่อยๆจนจืด
      
       4.5 หากมีอาการคัน อย่าเกา ให้ใช้น้ำมันมะรุม หรือ น้ำมันมะพร้าวทาบริเวณผื่นคัน อาจสลับด้วยการทาด้วยน้ำเอนไซม์ที่สะอาดเพื่อให้จุลินทรีย์ชนิดดีเช่น แลคติค แอสิท ไปยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคชนิดอื่น และหากมีอาการตาบวมอาจใช้ผ้าเย็นประคบบริเวณบวม ในขณะเดียวกันควรใช้การนวดช่วยลดอาการบวม และจะให้ดีควรมีคนช่วยนวดกดท้องเพื่อการเคลื่อนตัวของลำไส้ให้ดีขึ้น
      
       4.6 รับประทานน้ำมันอิ่มตัวกรดไขมันห่วงโซ่สายปานกลาง แนะนำน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็น ให้รับประทานตอนเช้า 2 - 3 ช้อนโต๊ะ (ก่อนรับประทานอาหาร) จะทำให้แก้ปัญหาธัยรอยด์ฮอร์โมนให้มีอัตราการเผาผลาญดีขึ้น ตัวอุ่นขึ้น อัตราความดันและอัตราการเต้นของหัวใจ คอเลสเตอรรอลโดยเฉพาะชนิดเลวในเลือดและไขมันในร่างกายจะลดลง อาการธัยรอยด์ฮอร์โมนน่าจะดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ และควรนำมาใช้ผัดหรือทอดแทนน้ำมันพืชถั่วเหลืองหรือน้ำมันข้าวโพด
      
       4.7 รับประทานผักและผลไม้ที่ไม่หวานเพื่อเพิ่มวิตามินซีให้มาก และดื่มน้ำให้มาก
      
       4.8 รับประทานอาหารที่เพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อลดความโดดของฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ อาหารที่มีสังกะสี แมกนีเซียม วิตาบินบี วิตามินซี อาหารแนะนำได้แก่ เมล็ดฟักทอง ( 1 กำมือวันเว้นวัน) ฟักทอง ถั่วชิกพี ถั่วเปลือกแข็งทุกชนิด (ยกเว้นถั่วเหลือง) ผักโขม ข้าวกล้อง งาดำ กล้วย มันฝรั่ง ฯลฯ
      
       4.9 ให้ล้างพิษตับด้วยน้ำมันมะกอกต่อไปทุก 20 วัน แต่ให้ดื่มน้ำมันมะกอกไม่เกิน 75 ซีซี ผสมน้ำมะนาว 75 ซีซี และอดอาหารเพียงแค่วันเดียว แต่เน้นกระบวนการเตรียมตัวก่อนล้างพิษในการรับประทานอาหารและล้างลำไส้ให้สะอาด อาการเหล่านี้จะทยอยดีขึ้นเป็นลำดับ จนหายไปในที่สุด
      
       แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้มีจำนวนน้อยมากในระหว่างการล้างพิษ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดจากผู้ที่จัดศูนย์อาจมีความไม่เข้าใจกับปัญหาของคนกลุ่มเหล่านี้ได้ดีเพียงพอ อาการเหล่านี้เกิดในผู้หญิงเกือบทั้งหมด และพบในผู้ชายน้อยมาก จึงขอบันทึกและเผยแพร่แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดอาการผื่นแพ้จากภาวะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และภาวะลำไส้รั่ว ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวนี้ต่อไป ดังนั้นแม้การล้างพิษตับจะให้ผลดี แต่ถ้ามีผลเสียสำหรับบางคนก็ควรตรวจสอบและหาทางป้องกันเอาไว้ดังที่เขียนเอาไว้มาทั้งหมด จะดีกว่านะครับ !!!

ที่มา : www.manager.co.th